• 09-5710-0899

ส่งดวงวิญญาณผู้ล่วงลับสู่ภพภูมิที่ดีด้วย “พิธีลอยอังคาร”

“พิธีลอยอังคาร” ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นเลย เพราะพิธีนี้เป็นพิธีที่เราจะทำให้กับผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการส่งดวงวิญญาณของเขาไปสู่ภพภูมิที่ดีและมีความสงบร่มเย็นนั่นเอง

เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับพิธีลอยอังคาร

“พิธีลอยอังคาร” นี้ถือเป็นขั้นตอนที่ผู้ยังมีชีวิตจะกระทำให้กับผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับคตินิยมมาจากประเทศอินเดีย เนื่องจากคนอินเดียถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์และชำระบาปได้ จึงนิยมนำเผาศพที่ริมแม่น้ำคงคา เพื่อจะได้นำกระดูกและเถ้าถ่านทิ้งลงแม่น้ำแห่งนี้ แต่ถ้าหากไม่ได้สัมผัสกับน้ำในแม่น้ำคงคาก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่หมดบาปนั่นเอง แต่สำหรับประเทศไทยนั้นได้รับเอาวัฒนธรรมของพิธีนี้มาจากทั้งสองทางนั่นคือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ

พิธีลอยอังคารนี้จะเป็นการนำอัฐิและเถ้าถ่านของศพที่เผาแล้วไปลอยในแม่น้ำหรือทะเล เพราะมีความเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และเมื่อร่างกายแตกดับก็ควรให้กลับไปสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยธาตุ “น้ำ” เป็นหนึ่งในธาตุหลักที่มีลักษณะเย็น สงบ และชุ่มชื่น นอกจากนั้นยังเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับทุกสรรพสิ่งบนโลก จึงมีความเชื่อกันว่าเป็นการส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับให้ไปสู่สุคติ หรือภพภูมิที่ดี มีแต่ความสงบร่มเย็น เปรียบเหมือนสายน้ำที่มีความชุ่มเย็น

ขั้นตอนการปฏิบัติของพิธีลอยอังคาร

พิธีลอยอังคารมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้คือ…

1. บูชาแม่ย่านางเรือ

คณะญาติมิตรของผู้ล่วงลับนำอังคาร (เถ้าถ่านของศพที่เผาแล้ว) ไปสู่ท่าเทียบเรือ จากนั้นพิธีกรนำประธานในพิธี หรือญาติอาวุโสลงเรือก่อน ส่วนคนอื่น ๆ ให้รอบนท่าเทียบเรือ เมื่อประธานในพิธีลงเรือแล้วจึงนำดอกไม้สดและธูปเทียนที่ใส่รวมไว้ในพานจุดบูชาแม่ย่านางที่หัวเรือ เพื่อกล่าวบูชาและขออนุญาตแม่ย่านางเรือ โดยประธานกล่าวเองหรือพิธีกรกล่าวนำ เมื่อทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือเสร็จแล้ว คณะญาติมิตรของผู้ล่วงลับจึงนำอังคารลงเรือและออกเรือไปยังจุดที่จะลอยอังคาร

2. ไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยน้ำ

เมื่อเรือแล่นมาถึงจุดที่จะทำพิธีลอยอังคารแล้วให้หยุดเรือลอยลำ จากนั้นพิธีกรจึงเปิดลุ้ง/ภาชนะดินปั้นที่ใส่อังคารเพื่อจัดเครื่องไหว้ให้ประธานในพิธี ประธานจุดธูปเทียนไหว้อังคารและสรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ และดอกไม้อื่น ๆ เมื่อทุกคนไหว้อังคารเสร็จแล้ว พิธีกรจึงห่อลุ้งอังคารด้วยผ้าขาวที่มีขนาดความยาวและกว้างประมาณครึ่งเมตรแล้วรวบด้วยสายสิญจน์ทำเป็นจุกข้างบนและสอดพวงมาลัยเข้าไป และแจกดอกกุหลาบให้กับคณะญาติมิตรคนละ 1 ดอก

3. บูชาเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร

พิธีกรจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดรให้แก่ประธาน จากนั้นประธานจึงจุดเทียน 1 เล่ม และธูป 7 ดอกที่กระทงดอกไม้ 7 สี แล้วจึงกล่าวบูชาและฝากอังคารกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร

4. เริ่มพิธีลอยอังคาร

เมื่อประธานหรือพิธีกรกล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดรเสร็จแล้ว พิธีกรจึงเชิญทุกคนยืนไว้อาลัยประมาณ 1 นาที จากนั้นประธานจึงโยนเหรียญลงทะเล เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียมแล้วลงบันไดเรือทางกาบซ้าย เพื่อลอยกระทงดอกไม้เจ็ดสี โดยใช้มือประคองค่อย ๆ วางบนผิวน้ำแล้วจึงอุ้มประคองลุ้งอังคารค่อย ๆ วางบนผิวน้ำ โดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือสายสิญจน์ไปด้วย แต่หากกาบเรืออยู่สูงจากผิวน้ำมากเกินไปและไม่มีบันไดลงเรือ ให้ใช้สายสิญจน์ทำเป็นสาแหรก 4 สาย โดยใส่กระทงดอกไม้เจ็ดสี 1 สาแหรก และใส่ห่อลุ้งอังคาร 1 สาแหรก ค่อยๆ หย่อนลงไปบนผิวน้ำ (ห้ามโยนลงไปเด็ดขาด) และเมื่อห่อลุ้งอังคารลงสู่ผิวน้ำแล้วให้โรยกลีบกุหลาบ ธูปเทียนตามลงไป รวมไปถึงสิ่งของที่เหลือจากการไหว้บูชา ทั้งหมดก็ให้โรยตามลงไปด้วย จากนั้นก็ให้แล่นเรือวนซ้ายทั้งหมด 3 รอบ เป็นอันเสร็จพิธี

หลังจากที่ทำพิธีลอยอังคารกันไปแล้ว เมื่อถึงวันครบรอบเสียชีวิตของผู้ล่วงลับแล้ว… อย่าลืมทำ "พิธีทำบุญครบรอบวันตาย" กันด้วย เพราะถือว่าเป็นการทำบุญใหญ่ให้กับผู้ล่วงลับอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เขาได้รับส่วนบุญส่วนกุศลและเดินทางไปสู่ภพภูมิที่ดี

 

Credit by: https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/87659.html