ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ

    ชาวเรือเป็นผู้ที่รัก และยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งเกิดจากความเคยชินในการกระทำจนกลายเป็นแบบอย่าง หรือพิธีการขึ้น ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างมีลัทธิประเพณี ของตนเองไม่เหมือนกัน หรืออาจรับมาจากอีกชาติหนึ่ง และดัดแปลงให้เกิดความเหมาะสมขึ้น ราชนาวีไทยเราได้ถือเอาแบบอย่าง ราชนาวีอังกฤษเป็นประเพณี แบบธรรมเนียมและพิธีต่างๆ จึงคล้ายคลึงกันในที่นี้จะขอกล่าวโดยสังเขปดังต่อไปนี้
     
  ::

การทำความเคารพท้ายเรือเมื่อเวลาขึ้นลงเรือใหญ่

::
    ก่อนจะขึ้น หรือลงจากเรือใหญ่ จะต้องทำความเคารพท้ายเรือก่อนเสมอ แต่ครั้งโบราณมีแท่นบูชาอยู่ที่ดาดฟ้าท้ายเรือ ผู้ที่จะขึ้น- ลงเรือไม่ทำความเคารพถือว่าเป็นการลบหลู่หมิ่นเกียรติอย่างร้ายแรง แต่สมัยนี้มีธงราชนาวีอยู่แทนแล้ว แม้ว่าจะเป็นเวลาก่อนธงขึ้นหรือ หลังธงลงแล้วก็คงถือประเพณีทำความเคารพท้ายเรือก่อนที่จะขึ้นหรือลงจากเรือใหญ่ตลอดมา
     
  ::

การขึ้นลงเรือเล็ก

::
    แต่เดิมนกหวีดเรือใช้ในการให้จังหวะในการตีกระเชียงของทาสในเรือแกลเลย์ ของกรีซและโรมัน ต่อมาใช้เป็นสัญญาณในการยิง หน้าไม้ของทหารเรืออังกฤษในสงครามครูเสด ในสมัยหนึ่งนกหวีดเรือถือเป็นเครื่องประดับเกียรติยศตามตำแหน่งราชการ เช่นจอมพลเรือ มีนกหวีดทองคำ ผู้ติดกับโซ่เล็ก ๆ ห้อยคอ ปัจจุบันนี้นกหวีดเรือใช้สำหรับการเคารพ การออกคำสั่ง และอื่น ๆ เช่น ธงขึ้น ธงลง เลิกงาน รับประทานอาหาร หะเบส หะเรีย นายทหารขึ้น - ลงเรือ เป็นต้น
     
  ::

การเคารพระหว่างเรือต่อเรือ

::
    ในทะเลนั้นภัยพิบัติย่อมเกิดขึ้นได้ทุกโอกาส ฉะนั้นจึงถือเป็นระเบียบประเพณี และมารยาทที่เรืออื่นจะต้องในความช่วยเหลือเรือที่หายเสมอ เมื่อเรือผ่านกันย่อมแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อแสดงว่าจะช่วยเหลือกัน หลักในการปฏิบัติมีดังนี้เรือสินค้า และเรือโดยสารต่างเคารพเรือรบก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรือใหญ่เล็กอย่างใด การแสดงความเคารพนั่น เรือสินค้าจะต้องสลุตธงให้เรือรบก่อน และเรือรบก็จะต้องสลุตธงตอบนอกจากเรือรบกับเรือสินค้า หรือเรือโดยสารจะสลุตธงเพื่อแสดงว่าจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้วเรือรบยังให้ความคุ้มครองในกรณีเกิดโจรสลัดขึ้นแก่เรือเหล่านั้นด้วย ถ้าเป็นเรือรบต่อเรือรบ จะต้องทำความเคารพด้วยสัญญาณนกหวีด หรือสัญญาณแตรเดี่ยว เรือที่มีชั้นของเรือต่ำกว่าจะต้องเป็นผู้ทำความเคารพให้ก่อนเสมอ
     
  ::

การอวยพรระหว่างเรือ

::
    เรือรบทุกลำไม่ว่าจะเป็นชาติเดียวกัน หรือต่างชาติ เมื่อได้มาจอดร่วมอ่าวกัน หรือผ่านกันในทะเล เมื่อทราบแน่นอนว่าฝ่ายหนึ่งจะต้องจากไปเป็นเวลานาน เมื่อเรือนั้นออกเดินทาง และผ่านกันในทัศนวิสัย ฝ่ายอยู่จะชักธงอวยพรให้เดินทางโดย สวัสดิภาพ ฝ่ายเดินทางจะชักธงสัญญาณตอบของใจ ถ้าอยู่ในระยะไกลซึ่งไม่สามารถจะเห็นธงประมวลก็ให้ใช้สื่อสารทางวิทยุโทรเลขแทน
     
  ::

พิธีปล่อยเรือลงน้ำ

::
    ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว เวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำ จะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธีโดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ การนี้สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงินเมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือแต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีบาดเจ็บจึงได้ใช้เชือกผู้คอขวดเสียก่อนเสมอ จนถึงปัจจุบันนี้
     
  ::

พิธีวางกระดูกงูเรือ

::
    เรือเดินทะเลที่จะลงมือสร้างนั้น ครั้งแรกของการสร้างก็คือการวางกระดูกงูเรือเสียก่อนโดยจัดให้มีพิธีวางกระดูกงู และเชิญแขกผู้มีเกียรติมาร่วมในพิธี ผู้ที่เป็นประธานในพิธีจะทำการย้ำหมุดตัวแรก และมีพิธีในทางศาสนาด้วย พิธีวางกระดูกงูถือกันว่าเพื่อให้เกิดความสวัสดีมีชัย และความวัฒนาถาวรให้แก่เรือ และนอกจากนั้นยังถือกันว่าเป็นการเชิญแม่ย่านางเรือให้เข้าสิงสถิตด้วย
     
  ::

การยิงสลุต

::
    การยิงสลุตเป็นการแสดงถึงการทำความเคารพอย่างหนึ่ง สันนิษฐานว่าสมัยโบราณปืนใหญ่ต้องบรรจุทางปากกระบอก การจะยิงแต่ละครั้งเสียเวลานานจึงมักบรรจุไว้ก่อน ครั้นเข้าไปในน่านน้ำต่างประเทศที่ปราศจากภัยการเอากระสุนออกเป็นการลำบากการยิงทิ้งเป็น การสะดวกกว่า จึงเป็นประเพณีตลอดมา ในน่านต่างประเทศเมื่อเวลาเรือจะเข้าท่าจะต้องยิงสลุตให้แก่ประเทศนั้นจำนวน ๒๑ นัด เป็นการเคารพ การยิงสลุตนี้จะกระทำในระหว่างระยะเวลาตั้งแต่ธงขึ้นถึงธงลงเท่านั้น นอกจากการยิงสลุตให้แก่ประเทศแล้ว ยังมีการยิงสลุตให้แก่บุคคลอีก
     
  ::

การเยี่ยมคำนับ

::
    เนื่องจากการที่เรือเคารพซึ่งกันและกันนั้น จึงได้เกิดมีประเพณีการเยี่ยมคำนับเมื่อเรือมาจอดร่วมกันขึ้น เรือที่จอดอยู่ก่อนส่งนายทหารยศไม่เกินกว่าเรือเอกไปเยี่ยมเพื่อการไต่ถามถึงการเดินทาง และความประสงค์ในการเดินทางต่อไป ตลอดจนขอทราบนามเรือ และผู้บังคับการเรือและรับรองยินดีจะช่วยเหลือการขัดข้องใด ๆ เท่าที่สามารถจะช่วยได้เสร็จแล้วผู้บังคับการเรือที่จอดใหม่จึงไปเยี่ยม ผบ.เรือ ที่ส่งนายทหารมาติดต่อนั้น และการเยี่ยมตอบกับในระหว่าง ผบ.เรือ ต่อ ผบ.เรือ ถ้ามีเรือชาติเดียวกันหลายลำก็ทำแต่เรือธง แต่จะทำให้ครบถ้วนทุกลำก็ได้ ถ้ามีเวลาพอ ถ้าเป็นเรือหลายชาติต้องกระทำจนครบ ถ้าวันเดียวกระทำการเยี่ยมคำนับไม่หมดต้องกระทำในวันต่อมาในโอกาสแรก นอกจากจะมีการเยี่ยมคำนับกัน ในระหว่างผู้บังคับการเรือแล้ว ยังมีการเยี่ยมคำนับ ผู้บังคับบัญชาทหารบนบกอีกด้วย ในการเยี่ยมคำนับนี้อาจมีการยิงสลุตด้วยก็ได้
     
  ::

พิธีข้ามเส้นอิเควเตอร์

::
    จัดเป็นพิธีที่สนุกสนานอย่างหนึ่ง จัดขึ้นสำหรับลูกเรือใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าพิธี เพื่อเป็นการแสดงว่าได้ผ่านความยากลำบากตรากตรำมาในทะเลอย่างมาก จึงประกอบพิธีขึ้นเพื่อจารึกว่าเป็นบุตรของพระสมุทรซึ่งเป็นเจ้าแห่งท้องทะเล พิธีนี้ทางเรือจะจัดขึ้น เมื่อเรือเล่นใกล้เส้นอิเควเตอร์ ปีศาจทะเลของพระสมุทรจะเป็นทูตขึ้นมา สอบถามและกำหนดการรับรองเมื่อถึงเวลาพระสมุทร และบริวารอันมีชายา ( แม่พระคงคา ) เธติส ตลกหลวง ช่างตัดผม โฆษก และบริวาร เช่น กุ้ง ปลา ขึ้นมาบนเรือ พวกที่ไม่เคยผ่านเส้นอิเควเตอร์ทุกคน จะถูกจับอาบน้ำในอ่างผ้าใบ โดยมีสูบดับเพลิงฉีดหลัง บริวารพระสมุทรเอาฟองสบู่โปะที่ศีรษะ และใช้กรรไกรไม้อันใหญ่ มีดโกนไม้ตัดผม เสร็จแล้วอาบน้ำชำระล้างเป็นเสร็จพิธี พระสมุทร และบริวารได้รับการรับรอง ด้วยเบียร์ และบุหรี่อย่างดี
     
  ::

การสละเรือใหญ่

::
    เมื่อเรือเกิดภัยพิบัติในทะเล จำเป็นต้องสละเรือ เพื่อเอาชีวิตรอด หลังจากที่ ผบ.เรือ นั้นได้เพียรพยายามจนสุดความสามารถที่จะแก้ไขได้ ถ้าในเรือมีเด็ก และสตรี จะต้องจัดให้ลงเรือช่วยชีวิตก่อนส่วน ผบ.เรือ จะต้องไปจากเรือเป็นคนสุดท้าย
     
  ::

การเดินบนดาดฟ้า

::
    ถึงแม้ว่าในเรือจะแคบ แต่การเดินไปมาบนดาดฟ้าก็ต้องเป็นระเบียบ ในราชนาวีอังกฤษกราบขวาสงวนไว้เป็นทางเดินเฉพาะ ผบ.เรือ เท่านั้น ส่วนในราชนาวีไทย นายทหารเดินกราบใดก็ได้ ส่วนทหารต่ำกว่าสัญญาบัตรจะเดินทางกราบขวาไม่ได้นอกจากจะมีเหตุฉุกเฉินขึ้นเท่านั้น
     
  ::

การตีระฆังเรือ

::
    เดิมนั้นระฆังเรือจะตีมากที่สุดเท่าใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ว่ามากกว่า 8 ที มีนิทานเล่าว่าทุกปีจะต้องส่งมนุษย์ไปสังเวยให้แก่ มังกรไฟซึ่งเป็นเจ้าทะเลอยู่ในขณะนั้นโดยมังกรไฟจะขึ้นมาเลือกคนเอาเอง เมื่อถึงกำหนดเจ้าเมืองจัดเรือส่งไปหนึ่งลำเมื่อเรือไปถึงถ้ำมังกรไฟแล้ว ได้ทำพิธีอัญเชิญมังกรไฟขึ้นมา มังกรไฟได้เลือกเอาตัวนายเรือลำนั้น นายเรือจึงขอผลัดไว้ว่า จะยอมให้กินเมื่อระฆังตี 9 ที มังกรไฟก็ยอม และลงไปนอนคอยอยู่ในถ้ำใต้บาดาล นายเรือผู้นั้นจึงคิดเปลี่ยนการตรีระฆังเรือมา เป็นอย่างมาก ๘ ที ตั้งแต่นั้นมา มังกรไฟจึงต้องนอนคอยต่อมาจนบัดนี้ ระฆังเรือตี 1ที่ เมื่อเวลา 0030 และเพิ่มขึ้น 1 ที ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงจนครบ 8 ที เมื่อเวลา 0400 แล้วเริ่ม ตี 1 ที ใหม่ เวลา 0430 และเพิ่มต่อ ๆ ไปตามลำดับ
     
  ::

การรับรองด้วยนกหวีด

::
    ในสมัยเรือใบ เมื่อมีการประชุมกันหรือเชิญรับประทานอาหารระหว่างกองเรือในทะเลเมื่อเกิดคลื่นลมจัดเรือโบตไม่อาจเทียบบันไดได้ จึงต้องขึ้นทางเก้าอีจ่ายาม หรือทางรอกที่ชักเรือโบต โดยจ่ายามเป่านกหวีดเพลง ชักขึ้นหย่อนลง ต่อมาจึงกลายเป็นประเพณีที่จ่ายาม และยามจะต้องมาคอยต้อนรับ นายทหารที่บันไดเสมอ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ หลังจากอังกฤษได้ชัยชนะสงครามทางเรือเมื่อปี ค.ศ.1742 ได้จัดให้มีการดื่มฉลองกันอย่างเต็มที่ ขากลับนายพลเรือ รอดนีย์ แม่ทัพดื่มมากไปหน่อยไม่สามารถขึ้นทางบันไดข้างเรือได้คงจะเป็นด้วยคลื่นแรงและเมามารด้วยเหตุนี้ท่านนายพลจึงต้องขึ้นมากับเรือโบต ดังนี้ที่นายพล จึงออกคำสั่งว่า ต่อไปถ้านายพลเรือจะขึ้นหรือลงเรือด้วยเรือโบต ให้เป่านกหวีดเพลงชักขี้นหรือชักลง 1 จบ ต่อมาจึงกลาย เป็นประเพณีที่จะต้องเป่านกหวีดให้แก่นายทหารผู้มีอาวุโส เช่น ผบ.เรือ และผู้บังคับบัญชาชั้นสูงด้วย ในปัจจุบันการรับรองโดยการเป่านกหวีดนั้นให้แก่ ผบ.เรือ ทุกนายและนายทหารชั้นนายนาวาขึ้นไปถ้ารับรองนายพลเรือให้พันจ่า เป็นผู้เป่า ผู้ที่จะต้องไปรับรองคือ นายทหารยาม พันจ่ายาม จ่ายาม และยามบันได ถ้าผู้บังคับบัญชาสูงกว่า ผบ.เรือ และต้นเรือ ต้องไปรับรองด้วย